ความเชื่อและการประพฤติ
ในบทเรียนสามบทแรก เราได้ศึกษาถึงความรักของพระเจ้าที่มีต่อชนชาติยิศราเอล
และพระเจ้าได้ทรงนำเขามั้งหลายออกมาจากการเป็นทาสในประเทศอียิปต์
ได้ทรงโปรดประทานคำสัญญาไมตรีเดิมที่ภูเขาซีนาย
และได้ทรงยอมให้พระบุตรสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนเพื่อความบาปของเราทั้งหลาย
ซึ่งเดี๋ยวนี้เราอยู่ภายใต้คำสัญญาไมตรีอันนี้ บทนี้จะเริ่มศึกษาถึง
"หน้าที่" ของมนุษย์ต่อพระเจ้า
เมื่อพระเยซูสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนคำสัญญาไมตรีใหม่มีผลบังคับใช้
หลายวันต่อมาหลังจากที่พระเยซูเสด็จสู่สวรรค์แล้ว ในวันเทศกาลเพ็นเทคศเต
ฝูงชนเป็นจำนวนมากได้ยินอัครสาวกเปโตรเทศนาครั้งแรก ในคำเทศนาเปโตรได้กล่าวหาฝูงชนนั้นว่าเป็นผู้ที่ได้ฆ่าพระเยซูคริสต์พระบุตรองค์เดียวของพระเจ้า
พระคัมภีร์กล่าวว่า "เมื่อคนทั้งหลายได้ยินแล้วก็รู้สึกแปลบปลาบใจ
จึงกล่าวแก่เปโตรและอัครสาวกอื่นว่า พี่น้องเอ๋ยเราจะทำอย่างไร ฝ่ายเปโตรจึงกล่าวแก่เขาว่า
จงกลับใจเสียใหม่และรับบัพติศมาในนามแห่งพระเยซูคริสต์สิ้นทุกคน
เพื่อความผิดบาปของท่านจะทรงยกเสีย
แล้วท่านจะได้รับพระราชทานพระวิญญาณบริสุทธิ์" (กิจการ 2.37-38)
ในวันนั้นพระคัมภีร์กล่าวว่ามีสามพันคนเข้ารับบัพติศมา
เพื่อความผิดบาปในอดีตจะยกเสีย และเขาเหล่านั้นได้ถูกนับเข้าสู่คริสตจักร
(กิจการ 2.41-47)
ยังมีชาวยิวอื่น ๆ ซึ่งเป็นผู้เชื่อในพระคริสต์แต่ไม่ยอมปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์
"แม้ในพวกขุนนางก็มีหลายคนเชื่อถือพระองค์ แต่เขามิได้รับพระองค์โดยเปิดเผย
กลัวว่าพวกฟาริซายจะขับไล่เขาเสียจากธรรมศาลา
ด้วยว่าเขารักความสรรเสริญของมนุษย์มากกว่าความสรรเสริญของพระเจ้า" (โยฮัน
12.42-43) จากตัวอย่างอันนี้เราเห็นได้ชัดทีเดียวว่า
มีความสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่มีความเชื่อแต่ไม่ปฏิบัติตาม
กับความเชื่อที่ปฏิบัติตาม เป็นแบบแผนแห่งความรอดในพระคัมภีร์ใหม่
เป็นสาระสำคัญที่เราจะเรียนในบทเรียนนี้
เราได้รับความรอดโดยความเชื่อ
ในเอเฟโซ 2.8
เปาโลกล่าวว่า "ด้วยว่าซึ่งท่านทั้งหลายรอดนั้นก็รอดโดยพระคุณเพราะความเชื่อ
และมิใช่แต่ตัวท่านทั้งหลายเอง แต่พระเจ้าทรงประทานให้"
ความจริงที่สำคัญเป็นที่ยอมรับทั่วไป แต่ก็ยังมีการเข้าใจผิดกันมาก ในเฮ็บราย 11.6
เราอ่านพบว่า "แต่ถ้าไม่มีความเชื่อแล้ว จะเป็นที่ชอบพระทัยพระเจ้าก็หามิได้
เพราะว่าผู้ที่มาหาพระเจ้าต้องเชื่อว่าพระองค์ทรงพระชนม์อยู่
และต้องเชื่อว่าพระองค์เป็นผู้ประทานบำเหน็จให้แก่ทุกคนที่ปลงใจแสวงหาพระองค์"
และอีกข้อหนึ่ง ในกิจการ 16.31 เปาโลได้บอกกับนายคุกชาวฟิลิปปอยว่า
"จงเชื่อวางใจในพระเยซูคริสต์เจ้าและท่านจะรอดได้..."
พระเยซูได้กล่าวไว้ใน มาระโก 16.16 "ผู้ใดได้เชื่อและรับบัพติศมาแล้วผู้นั้นจะรอด..."
ถ้าปราศจากความเชื่อเราไม่มีความหวังเลย บางคนอาจจะให้เหตุผลว่า
ความเชื่อของขุนนางผู้ที่ไม่ยอมรับโดยเปิดเผยเป็นความเชื่อที่พระเจ้ายอมรับเหมือนกับความเชื่อของสามพันคนในวันเพ็นเทคศเตที่เชื่อฟังพระกิตติคุณ
พระคัมภีร์สอนว่าความเชื่อของเราจะเป็นที่ยอมรับแก่พระเจ้าได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับฐานะหรือเงื่อนไขที่เราดำรงอยู่
สถานะของความเชื่อ
พระคริสตธรรมคัมภีร์ได้บรรยายถึงสถานะหรือเงื่อนไขสองประการซึ่งความเชื่อดำรงอยู่
สถานะอันหนึ่งความเชื่อจะนำเราไปถึงความรอด
และอีกสถานะหนึ่งความเชื่อนั้นใช้การอะไรไม่ได้เลย
จะเป็นที่แช่งสาปมากกว่าเป็นพร สถานะสองประการคือ ความเชื่อที่ตายและความเชื่อที่มีชีวิตอันประกอบด้วยความประพฤติ
ใน ยาโกโบ
2.17 พระคัมภีร์กล่าวว่า ความเชื่อถ้าปราศจากการประพฤติ
ความเชื่อก็ตายอยู่ในตัวเองแล้ว
เหมือนกับสถานของร่างกายมนุษย์ซึ่งกำลังมีชีวิตอยู่หรือตายแล้ว
ความเชื่อที่มีชีวิตเหมือนร่างกายที่มีชีวิตอยู่ ซึ่งสำแดงออกโดยการกระทำ
ความเชื่อที่ตายเหมือนร่างกายที่ตายแล้วไม่มีชีวิตชีวาอะไร
ความเชื่อที่ตายเป็นความเชื่อเท่านั้น
เป็นความเชื่อที่ไม่ได้ประพฤติตามคำสั่งของพระคริสต์
ความเชื่อแบบนี้เป็นความเชื่อของ "ขุนนาง" ซึ่งไม่ยอมรับโดยเปิดเผย
พระคัมภีร์ยังบอกว่าแม้พญามารก็มีความเชื่อแบบนี้ด้วย
แต่ความเชื่อแบบนี้ไม่มีคุณค่าแก่ความรอดเลย ในยาโกโบ 2.19
ได้ตำหนิคำสอนเกี่ยวกับความรอดที่ผิดโดยเอาความเชื่อแยกออกจากการเชื่อฟังที่ประกอบด้วยความประพฤติตามพระคำของพระเจ้า
"ท่านเชื่อว่ามีพระเจ้าแต่องค์เดียวนั่นก็ดีอยู่แล้ว
พวกปีศาจทั้งปวงก็เชื่อเหมือนกันและกลัวจนตัวสั่น"
ยาโกโบได้ชี้ให้เห็นว่าปราศจากความเชื่อจะเป็นที่ชอบพระทัยพระเจ้าก็หามิได้
ในที่สุดยาโกโบได้สรุปถึงเรื่องนี้ไว้ในข้อสุดท้ายว่า
"ด้วยว่ากายอันปราศจากจิตต์วิญญาณตายแล้วฉันใด
ความเชื่ออันปราศจากการประพฤติก็ตายแล้วฉันนั้น"
ยาโกโบหมายความว่าเหมือนกับร่างกายที่ตายแล้วย่อมใช้การไม่ได้
เพระปราศจากจิตต์วิญญาณ เพราะฉะนั้นความเชื่อที่ตายแล้วคือ
ความเชื่อที่ปราศจากการประพฤติ ตามคำตรัสสั่งของพระเยซูคริสต์ก็ตายแล้วฉันนั้น
เราอาจมีความเชื่อในพระเยซู และแม้เราเคยอ้างตัวว่าเป็นคริสเตียน
นอกจากว่าเราปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์แล้ว
ความเชื่อของเราจะพิสูจน์ว่าเราตายแล้ว และเราจะพินาศชั่วนิรันดร์แน่นอน
พระคัมภีร์ได้สอนชัดเจนทีเดียวถึงความแตกต่างระหว่างความเชื่อที่ตาย
ความเชื่อที่ใช้การไม่ได้ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่นำเราถึงความรอด
และกระทำกิจมีชีวิตชีวา ความเชื่ออันประกอบด้วยการประพฤติเป็นความเชื่อที่ชอบพระทัยพระเจ้า
ในพระคัมภีร์ไม่มีสักตัวอย่างเดียวที่มีผู้ที่รอดโดยความเชื่อที่ตายแล้ว เปาโลได้อธิบายไว้ถึงเรื่องนี้อย่างชัดเจนทีเดียว
ฆะลาเตีย 5.6 เมื่อเขาได้กล่าวว่าความเชื่อที่เป็นที่พอพระทัยพระเจ้าคือ
"...ความเชื่อต่างหากซึ่งกระทำกิจด้วยความรัก"
ตัวอย่างการกลับใจบังเกิดใหม่ทุก ๆ ราย
ก็ชี้ให้เห็นว่าบุคคลจะรอดได้อันมีความเชื่อซี่งบวกด้วยความประพฤติที่ปฏิบัติตามบัญญัติของพระเจ้า
ยาโกโบกล่าวว่า "จงสำแดงความเชื่อของท่านที่ปราศจากการประพฤติให้ข้าพเจ้าเห็น
และข้าพเจ้าจะนำการประพฤติของข้าพเจ้ามาสำแดงให้ท่านเห็นว่าความเชื่อนั้นเป็นอย่างไร"
(ยาโกโบ 2.18) หลักการดังกล่าวนี้ได้มีอุทาหรณ์กล่าวไว้ในหนังสือเฮ็บราย
บทที่ 11 อย่างมากมาย หนังสือเฮ็บราย บทที่ 11 มักจะได้รับขนานนามว่า
"บทบาทของบุคคลสำคัญที่ได้รับเกียรติในพระคัมภีร์เดิม"
ในบทที่ 11
ของหนังสือเฮ็บรายอันสำคัญนี้
ผู้เขียนได้บรรยายให้เราทราบถึงบุคคลหลายท่านซึ่งได้รับความรอด
เพราะความเชื่อของเขา ทุก ๆ รายที่กล่าวไว้
ความเชื่อของเขาทั้งหลายประกอบด้วยการประพฤติตาม
ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างบุคคลสำคัญ ๆ เช่น
1. เฮเบล
โดยความเชื่อ ได้นำเครื่องบูชาอันประเสริฐมาถวาย (ความประพฤติ ข้อ 4)
2. โนฮา
โดยความเชื่อ ได้ต่อนาวาตามที่พระเจ้าได้บอก (ความประพฤติ ข้อ 7)
3. อับราฮาม
โดยความเชื่อ ได้จากบ้านเรือนของตน และได้เสียสละบุตรชายของตนเป็นเครื่องบูชา
(ความประพฤติ ข้อ 8 และ 17)
(ถ้าเป็นไปได้
นักศึกษาควรอ่าน ยาโกโบ บทที่ 2 และ เฮ็บราย บทที่ 11)
ข้อพระคำที่เกี่ยวกับการเชื่อฟัง
ข้อความต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของข้อพระคัมภีร์ที่ได้หยิบยกมาในที่นี้
เพื่อชี้ให้เห็นว่า เราไม่เพียงแต่เชื่อในพระเยซูเท่านั้น
แต่เราต้องเชื่อฟังข้อบังคับในพระกิตติคุณในการที่จะได้รับความรอด
มัดธาย 7.21 "มิใช่ทุกคนที่เรียกเราว่า พระองค์เจ้าเข้า พระองค์เจ้าข้า
จะได้เข้าในเมืองสวรรค์ แต่ผู้ที่ปฏิบัติตามพระทัยพระบิดาของเราผู้อยู่ในสวรรค์จึงจะเข้าได้"
กิจการ
10.34-35 "พระเจ้าไม่ทรงเลือกหน้าผู้ใด แต่ชาวชนประเทศใด ๆ
ที่เกรงกลัวพระองค์ และประพฤติในทางชอบธรรมก็เป็นที่ชอบพระทัยของพระองค์"
โยฮัน 15.14
"ถ้าท่านทั้งหลายจะประพฤติตามที่เราสั่งสอนท่าน ท่านจะเป็นมิตรสหายของเรา"
2เธซะโลนิเก
1.7-8
"เมื่อพระเยซูเจ้าจะเสด็จมาจากสวรรค์ปรากฏพร้อมกับหมู่ทูตสวรรค์ของพระองค์ผู้มีฤทธิ์ดังเปลวเพลิง
และจะสนองโทษแก่คนเหล่านั้นที่ไม่รู้จักพระเจ้า
และไม่เชื่อฟังกิตติคุณของพระเยซูเจ้าของเรา"
1เปโตร 1.22
"โดยเหตุที่ท่านทั้งหลายได้ชำระจิตใจของตนแล้ว
ด้วยเชื่อฟังความจริงจนมีใจรักพวกนี่น้องด้วยความรักอันแท้"
เฮ็บราย 5.9
"และเมื่อถึงที่สำเร็จแล้ว พระองค์ก็เลยทรงเป็นผู้เริ่มจัดความรอดนิรันดร์ให้แก่คนทั้งหลายที่เชื่อฟังพระองค์"
1โยฮัน 2.4
"คนใด ๆ ที่ว่า ข้าพเจ้ารู้จักพระองค์
แต่มิได้ประพฤติตามพระบัญญัติของพระองค์ คนนั้นเป็นคนพูดมุสา"
โรม 6.16
"ท่านทั้งหลายไม่รู้หรือว่าท่านจะยอมตัวรับใช้ฟังคำของผู้ใด ท่านก็เป็นทาสของผู้นั้น
คือเป็นทาสกระทำผิดจนถึงความตายก็ดีหรือฟังประพฤติการดีจนถึงความชอบธรรมก็ดี"
1โยฮัน 5.3
"เพราะว่านี่แหละเป็นความรักของพระเจ้า
คือว่าให้เราทั้งหลายประพฤติตามพระบัญญัติของพระองค์
และพระบัญญัติของพระองค์หาหนักใจไม่"
โปรดดู 1ซามูเอล
15.16-24, ท่านผู้ประกาศ 12.13-14, มัดธาย 7.24-27
เราไม่รอดโดยความเชื่ออย่างเดียวเท่านั้น
จากข้อความเหล่านี้เราเห็นได้ชัดเจน
แม้ว่าบุคคลจะได้รับความรอดโดยความเชื่อแล้วก็ตาม
แต่เป็นไปไม่ได้ที่เราจะได้รับความรอดโดย "ความเชื่ออย่างเดียวเท่านั้น"
คำสอนแบบนี้ไม่เพียงแต่ตัดเอาบัพติศมาออกไปเสียจากโครงการแห่งความรอดแล้ว
ก็ยังตัดเอาความจำเป็นอย่างอื่น เช่น การกลับใจเสียใหม่ และความรัก
ออกไปอีกด้วย มีข้อความหลายตอนที่สอนว่าเรารอดโดยความเชื่อ
สิ่งสำคัญที่เราต้องระลึกไว้เสมอ เมื่อเราได้รับความรอดโดยความเชื่อ
คำตอบที่ได้จากข้อพระธรรมก็ชัดมากทีเดียว
เราจะได้รับความรอดโดยความเชื่อของเราก็ต่อเมื่อความเชื่อนั้นได้กระทำกิจโดยการปฏิบัติตาม
เพราะ "ความเชื่อปราศจากการประพฤติ ความเชื่อนั้นก็ตาย" และ
"ปีศาจก็เชื่อด้วยและเกรงกลัวจนตัวสั่น" (ยาโกโบ 2.17, 19)
พระคัมภีร์จะปรับเอาถึงขนาดหนักแก่ทฤษฎีของมนุษย์ที่สอนว่า
เราจะเป็นผู้ชอบธรรมได้โดย "ความเชื่อเท่านั้น"
ซึ่งกล่าวเลี่ยงออกจากการประพฤติที่เชื่อฟังและปฏิบัติตาม
เมื่อความจริงมิได้กล่าวดังนั้น "ท่านทั้งหลายเห็นแล้วว่า ที่คนใด ๆ
เป็นคนชอบธรรมนั้นก็เนื่องด้วยการประพฤติ และไม่ใช่โดยความเชื่ออย่างเดียว"
(ยาโกโบ 2.24)
ความสัมพันธ์ของความเชื่อและการประพฤติ
พระคัมภีร์ได้กล่าวไว้ว่าความเชื่อนั้นมีมากกว่าหนึ่งชนิด ฉันใดก็ย่อมมี
"การประพฤติ" มากกว่าหนึ่งชนิดขึ้นไปด้วยเหมือนกันฉันนั้น
พระคัมภีร์ได้บรรยายกิจหรือความประพฤติไว้สี่อย่างต่างกัน
กิจสามชนิดที่จะกล่าวต่อไปนี้ไม่มีคุณค่าอะไรเลยสำหรับความรอดของเราทั้งหลาย
แต่กิจอันที่สี่มีความสำคัญอย่างยิ่ง
บุคคลจะเป็นผู้ชอบธรรมโดยปราศจากกิจประการที่สี่นี้ไม่ได้ (ยาโกโบ 2.24)
กิจหรือความประพฤติสี่ประการ มีดังต่อไปนี้
1.
กิจการของเนื้อหนัง กิจเหล่านี้เป็นกิจการของอธรรม เช่น
การล่วงประเวณี, การฆ่ากัน และการเมาเหล้า กิจของเนื้อหนังได้บรรยายไว้ใน ฆะลาเตีย
5.19-21
2.
กิจของเราเอง
กิจเหล่านี้เป็นกิจของผู้เหล่านั้นที่หวังจะช่วยตนเองให้ได้รับความรอดโดยความสามารถของตนเอง
แทนที่จะพึ่งในพระเจ้า
กิจเหล่านี้รวมทั้งการนมัสการรูปเคารพที่ทำด้วยมือมนุษย์
และรวมทั้งศาสนาของมนุษย์อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความคิดของมนุษย์ไม่ใช่มาจากพระเจ้า
(กิจการ 7.41, 2ติโมเธียว 1.19)
3.
กิจที่ประพฤติตามบัญญัติของโมเซ ตามที่เราได้ศึกษาแล้วในบทที่สาม
บัญญัติแห่งคำสัญญาไมตรีเดิมได้สิ้นสุดลงเมื่อพระคริสต์สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน
เพราะฉะนั้นเปาโลจึงได้กล่าวว่าเดี๋ยวนี้เราไม่ได้อยู่ภายใต้บัญญัติอันนี้
"เพราะว่าโดยการประพฤติตามพระบัญญัตินั้น
ไม่มีมนุษย์สักคนเดียวที่อยู่ในเนื้อหนังจะเป็นคนชอบธรรมได้" (ฆะลาเตีย 2.16)
4.
กิจที่เชื่อฟังและประพฤติตาม
กิจเหล่านี้เป็นกิจที่เชื่อฟังพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์
ถ้าปราศจากกิจเหล่านี้เราไม่สามารถ "เข้าในแผ่นดินสวรรค์ได้" (มัดธาย 7.21,
ติโต 1.16, 1เธซะโลนิเก 1.7-9)
นี่จึงอธิบายให้เห็นว่าทำไมเปาโลกล่าวไว้ใน เอเฟโซ 2.9 ว่า
เราไม่สามารถรอดโดยความประพฤติ
เมื่อยาโกโบกล่าวว่าเราเป็นผู้ชอบธรรมโดยความประพฤติ (ยาโกโบ 2.24)
แต่เปาโลหมายถึงกิจการที่เรากระทำ (ข้อ 8)
ขณะเมื่อยาโกโบพูดถึงกิจแห่งการเชื่อฟัง (ยาโกโบ 2.14-21)
ทั้งนี้มิได้หมายความว่าเราสามารถสร้างบุญกุศลเพื่อจะไปสวรรค์ได้
โนฮามิได้สร้างความดีโดยการต่อนาวาเพื่อจะได้รับความรอด ยะโฮซูอะมิได้ลงทุนอะไรเพื่อได้มาซึ่งเมืองยะริโฮ
เมื่อได้เดินรอบกำแพงเมืองยะริโฮ ชนชาติยิศราเอลมิได้รับแผ่นดินที่พระเจ้าทรงสัญญาจะให้
เพียงแต่เขาทั้งหลายได้เดินทางจากประเทศอียิปต์
ตัวอย่างเหล่านั้นก็เหมือนกับความรอดที่เราจะได้รับโดยพระเยซู
ความรอดนั้นเป็นของประทานจากพระเจ้า
แม้ว่าของประทานที่เราจะได้รับนั้นเราจะต้องแสดงออกโดยการเชื่อฟังและการประพฤติตาม
เพราะฉะนั้นความเชื่อถ้าปราศจากการประพฤติตามก็ไม่มีคุณค่าอะไรเลย
(ข้อพระธรรมเพิ่มเติม โปรดดู ลูกา 6.46-49, โรม 16.26, 1เปโตร
4.17-18, ฟิลิปปอย 2.12, โยฮัน 1.12)
หนทางของผู้ที่ไม่เชื่อฟัง
เมื่อถึงตอนนี้ท่านคงแปลกใจว่าทำไมบทเรียนทั้งหมดจะหนักไปในรูปความสัมพันธ์ของความเชื่อและการเชื่อฟัง
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเหตุว่ามีคนเป็นจำนวนมากที่ไม่เชื่อฟังและปฏิบัติตามพระคำของพระเจ้า
โดยที่คนเหล่านั้นไม่ตระหนักว่าเขาได้ขัดคำสั่งอย่างใหญ่หลวง
พระคัมภีร์สอนว่ามีสามทางที่มนุษย์จะไม่เชื่อฟังพระเจ้า
1.
ละเมิดสิ่งที่พระเจ้าทรงห้าม
ทางที่เห็นได้ชัดซึ่งทำให้เราอาจะไม่เชื่อฟังพระเจ้าโดยการละเมิดหรือขัดคำสั่งที่พระองค์ได้เจาะจงห้ามเอาไว้โดยเฉพาะ
อาดามและฮาวาได้กบฏต่อพระเจ้าโดยการที่ได้รับประทานผลไม้ที่พระเจ้าทรงห้าม (เยเนซิศ
2.17) หลักการอันเดียวยังคงใช้ปฏิบัติในพระคัมภีร์ใหม่
หลังจากที่เปาโลได้พรรณาถึง "กิจของเนื้อหนัง" เปาโลได้กล่าวสรุปไว้ดังนี้
"คนเหล่านั้นที่กระทำการเช่นนั้นจะรับส่วนในแผ่นดินของพระเจ้าไม่ได้" (ฆะลาเตีย
5.19-22)
2.
ล้มเหลวในการที่จะปฏิบัติตามคำตรัสสั่งของพระเจ้า ยาโกโบกล่าวว่า
"คนใดที่รู้จักกระทำการดีและไม่ได้กระทำ บาปจึงมีแก่คนนั้น" (ยาโกโบ 4.17)
ถึงแม้ว่าคำตรัสสั่งของพระเจ้าจะดูเหมือนไร้สาระ หรือดูเหมือนว่าไม่จำเป็น
แม้กระนั้นเราก็จะต้องรักษาถ้าเราอยากได้รับความรอด พระคัมภีร์กล่าวว่า
ความคิดของพระเจ้าไม่เหมือนกับความคิดของมนุษย์ (ยะซายา 55.8-9)
มีคำตรัสสั่งของพระเจ้ามากมายที่มนุษย์ได้ปฏิเสธเพราะไม่เห็นความสำคัญ
แต่ในสายพระเนตรของพระเจ้า คำสั่งเหล่านั้นสำคัญอย่างยิ่ง
ถ้าไม่เช่นนั้นพระองค์ก็คงไม่ตรัสสั่งไว้
แม่ทัพนามานผู้เป็นโรคเรื้อนเป็นตัวอย่างอันดีถึงเรื่องการไม่เชื่อฟัง
(2พงศาวดารกษัตริย์ 5.1-14)
ครั้งแรกเมื่อนามานได้รับคำสั่งจากพระเจ้าให้จุ่มตัวเองลงในแม่น้ำยาระเดนเจ็ดครั้ง
เพราะเขาจะได้หายเป็นปกติจากโรคเรื้อน
แต่นามานครั้งแรกได้ปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติตาม เพราะเห็นว่าคำสั่งนั้นไม่มีเหตุผลเลย
นามานได้ออกไปด้วยความโกรธ แต่นามานได้กลับใจใหม่
คือได้กลับเชื่อฟังคำสั่งของพระเจ้าที่เขาคิดว่าเป็นเรื่อง "โง่เขลา"
การเชื่อฟังของนามานยังผลทำให้เขาหายสะอาดเป็นปกติ แท้จริง "ปัญญาของโลกนี้เป็นอปัญญาเฉพาะพระเจ้า"
(1โกรินโธ 3.19)
หลายครั้งหลายหนในประวัติศาสตร์ซึ่งมนุษย์มักไม่เห็นความสำคัญในการที่จะเชื่อฟังคำตรัสสั่งของพระเยซูคริสต์
พวกเหล่านี้ได้กระทำดังนั้นเพราะเนื่องจากผู้นำในองค์การศาสนา, คริสตจักร
หรือที่ประชุมปรึกษาภายในวงการศาสนาลงความเห็นเลือกเอาตามใจชอบ
ทั้งนี้มิได้หมายความว่าสิ่งที่เขาเลือกนั้นถูกต้องตามสายพระเนตรของพระเจ้า
3.
โดยการปฏิบัติที่ไม่ได้อาศัยอำนาจของพระเจ้า
อีกวิธีหนึ่งซึ่งเป็นวิธีที่มนุษย์มักไม่เชื่อฟังก็คือ
มุสาในการใช้อำนาจขององค์พระผู้เป็นเจ้าอันไม่ถูกต้อง ในข้อนี้มีหลักการ 2
ประเภท คือใช้คำของมนุษย์แทนคำสั่งอันแท้ของพระเจ้า และประการที่ 2 คือ
ผู้ที่เพิ่มเติมคำตรัสสั่งที่ปฏิบัติในพระกิตติคุณซึ่งเราไม่มีอำนาจที่จะเพิ่มเติมได้
พระเยซูได้กล่าวถึงความบาปอันนี้ไว้ดังนี้ "คนเช่นนี้นับถือเราด้วยริมฝีปาก
แต่ใจของเขาห่างไกลจากเรา เขาปฏิบัติเราโดยหาประโยชน์มิได้
ด้วยเอาคำของมนุษย์สอนว่าเป็นพระบัญญัติ" (มัดธาย 15.9)
ตลอดทุกยุคทุกสมัยมนุษย์มีความรู้สึกว่า เป็นการ "ถูก"
ที่จะเพิ่มเติมพระคำของพระเจ้า และนมัสการตามอำเภอใจของตนเอง
โดยที่พระเจ้ามิได้ให้อำนาจไว้เลย การกระทำอย่างนี้
พระเจ้าทรงกล่าวโทษแก่ผู้ที่ขัดคำสั่งทุกยุคทุกสมัย เป็นเวลา 1500
ปีก่อนคริสตศักราช โมเซได้เขียนไว้ว่า
"เจ้าทั้งหลายอย่าได้เพิ่มเติมคำที่เราสั่งสอนเจ้าทั้งหลาย
และอย่าได้ลดหย่อนจากถ้อยคำนั้น
เพื่อเจ้าทั้งหลายจะได้ประพฤติตามข้อบัญญัติแห่งพระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้า
ซึ่งเราได้สั่งเจ้าทั้งหลาย" (พระบัญญัติ 4.2)
ในพระคัมภีร์ใหม่อัครสาวกโยฮันกล่าวว่า "ข้าพเจ้าเป็นพยานแก่ทุก ๆ
คนที่ได้ยินถ้อยคำในหนังสือนี้ว่า
ถ้าผู้ใดจะเพิ่มข้อความในเรื่องราวพยากรณ์ของหนังสือนี้
พระเจ้าจะทรงเพิ่มภัยทรมานที่เขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้ให้แก่ผู้นั้น ๆ
และถ้าผู้ใดจะลดข้อความจากเรื่องราวแห่งหนังสือพยากรณ์นี้
พระเจ้าจะชักส่วนของผู้นั้นไปเสียจากต้นไม้แห่งชีวิตและจากเมืองบริสุทธิ์นั้น
และจากข้อความเหล่านั้นที่เขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้" (วิวรณ์ 22.18-19)
ให้เราทั้งหลายมีความกล้าหาญที่จะสลัดคำสอนของมนุษย์ไปเสีย
และประพฤติตามคำสอนและคำสั่งของพระเจ้าตามแบบฉบับที่เราอ่านพบในพระคริสตธรรมใหม่เท่านั้น
ตอบคำถาม คลิกที่นี่ https://docs.google.com/forms/d/1V7wnyLyLKE468fTmekdZ1mkn4XVwquByhIrxCiH3lTQ/viewform?usp=send_form